เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[353] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีจิตเบิกบานโสมนัส ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉัน
ผู้มีใจสังเวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[354] “เขมา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า (มีของเหลว)
ไหลเข้าและไหลออก ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก
[355] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียว
ด้วยอารมณ์ที่ไม่งามเถิด
เธอจงเจริญกายคตาสติมากไปด้วยความเบื่อหน่ายเถิด
[356] รูปของหญิงนี้เป็นฉันใด
รูปกายของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปกายของเธอนั้นเป็นฉันใด
รูปของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
เธอจงคลายความยินดีพอใจในกาย
ทั้งภายในและภายนอกเถิด
[357] จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์1 จงละมานานุสัยเสีย
แต่นั้นเธอจักเป็นผู้อยู่อย่างสงบ
เพราะมานานุสัยสงบระงับไป
[358] ชนเหล่าใดกำหนัดเพราะราคะเกาะติดกระแสอยู่
เหมือนแมลงมุมเกาะใยอยู่ตรงกลางที่ทำไว้เอง
ชนเหล่านั้นตัดกระแสราคะนั้นแล้ว ไม่มีความอาลัย
ละกามสุข หลีกไป”
[359] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงทราบว่า หม่อมฉันมีจิตควรแล้ว
จึงทรงแสดงมหานิทานสูตรเพื่อทรงแนะนำหม่อมฉัน

เชิงอรรถ :
1 อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ
หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตาแล้วถอนนิมิตเสียได้ (ขุ.ป. (แปล) 31/229/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :434 }